อ็อสคาร์ ชินด์เลอร์ (เยอรมัน: Oskar Schindler; 28 เมษายน พ.ศ. 2451 – 9 ตุลาคม พ.ศ. 2517) คือนักอุตสาหกรรมและนักจารกรรมชาวเยอรมัน อดีตสมาชิกพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน (พรรคนาซี) ผู้ได้รับการกล่าวขานว่าช่วยชีวิตชาวยิวกว่า 1,200 คน ในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ด้วยการรับเข้าทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานภาชนะเคลือบและโรงงานผลิตอาวุธสงครามที่เขาเป็นเจ้าของอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตยึดครองโปแลนด์ของเยอรมนีและรัฐในอารักขาแห่งโบฮีเมียและโมราเวีย นอกจากนี้เขายังเป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง Schindler's Ark ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งต่อมาถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม ในปี พ.ศ. 2536 ที่สะท้อนแง่มุมในชีวิตของซินด์เลอร์ ผู้ถูกผลักดันด้วยแรงจูงใจจากผลกำไรของธุรกิจในช่วงแรก และต่อมาได้แสดงให้เห็นถึงการริเริ่ม ความดื้อรั้น และความทุ่มเทเพื่อรักษาชีวิตลูกจ้างชาวยิวของเขาในภายหลัง
ซินด์เลอร์เติบโตในเมืองซวิตเทา โมราเวีย และเคยทำงานอยู่ในบริษัทค้าขายหลายแห่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 ได้เข้าร่วมกับหน่วยสืบราชการลับของนาซีเยอรมนีหรือแอปเวร์ (Abwehr) และเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคนาซีในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งก่อนหน้านี้ ในช่วงที่เยอรมนียังไม่ได้บุกยึดครองเช็กโกสโลวาเกียในปี พ.ศ. 2481 ซินด์เลอร์ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรถไฟและการเคลื่อนย้ายกำลังพลของกองทัพให้แก่รัฐบาลเยอรมัน จนถูกจับกุมในข้อหาจารกรรมโดยรัฐบาลเช็ก แต่ก็ถูกปล่อยตัวในปีเดียวกันจากเงื่อนไขในข้อตกลงมิวนิก หลังจากนั้นซินด์เลอร์จึงย้ายไปปฏิบัติงานรวบรวมข่าวสารในโปแลนด์ในปี พ.ศ. 2482 หรือช่วงก่อนที่เยอรมนีจะบุกยึดครองโปแลนด์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง
ในปี พ.ศ. 2482 ซินด์เลอร์ได้รับมอบให้เป็นเจ้าของโรงงานภาชนะเครื่องเคลือบในกรากุฟ โปแลนด์ ซึ่งมีจำนวนคนงาน (ณ ช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดของโรงงานในปี พ.ศ. 2487) อยู่ประมาณ 1,750 คน ในจำนวนนั้นเป็นชาวยิวราวหนึ่งพันคน ซินด์เลอร์สามารถปกป้องลูกจ้างชาวยิวของเขาจากการถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันนาซีด้วยเส้นสายในหน่วยสืบราชการลับ แม้ว่าในช่วงแรกเขาจะมุ่งความสนใจไปที่การทำกำไรจากธุรกิจก็ตาม แต่ในภายหลังเขาหันกลับมาให้ความสำคัญในการปกป้องลูกจ้างชาวยิวของตน โดยไม่สนว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ซินด์เลอร์ต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่จากพรรคนาซีด้วยส่วยก้อนโตและสินทรัพย์หรูหรามากมายที่หาซื้อได้จากตลาดมืดเท่านั้น แลกกับอิสรภาพของลูกจ้างชาวยิวของเขา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 เมื่อเยอรมนีมีทีท่าว่าจะพ่ายแพ้ในสงคราม หน่วยชุทซ์ชทัฟเฟิล (หน่วยเอสเอส) ของนาซีจึงเริ่มปิดค่ายกักกันในภาคตะวันออกและอพยพนักโทษที่ยังคงหลงเหลืออยู่มายังฝั่งตะวันตก ส่งผลให้นาซีจำต้องสังหารนักโทษในค่ายกักกันเอาชวิทซ์และค่ายกักกันกรอสส์-โรเซินไปเป็นจำนวนมาก ซินด์เลอร์จึงได้ทำการโน้มน้าว เฮาป์ชเติมฟือเรอร์ (Hauptsturmführer) ของหน่วยชุทซ์ชทัฟเฟิล อาม็อน เกิท ผู้บัญชาการค่ายกักกันกรากุฟ-ปวาซอฟ (Kraków-Płaszów) ในละแวกใกล้เคียง ขอย้ายโรงงานของตนไปยังบรึนน์ลิตซ์ในซูเดเทินลันด์ เขาจึงสามารถปกป้องลูกจ้างของตนให้รอดพ้นจากการถูกจับเข้าห้องรมแก๊สไปได้ เลขานุการของเกิท มีเทค เปมเปอร์ จึงรวบรวมและพิมพ์รายชื่อชาวยิวจำนวน 1,200 คน ซึ่งได้มาจากตำรวจแห่งกองตำรวจชาวยิว มาร์เซิล กอลด์แบร์ก ส่งให้เดินทางไปยังบรึนน์ลิตซ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2487 ทั้งนี้ซินด์เลอร์ยังคงติดสินบนเจ้าหน้าที่เอสเอสต่อไปจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองภาคพื้นยุโรปสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 เพื่อหลีกเลี่ยงการจับลูกจ้างของเขาไปลงโทษและประหารชีวิต ทำให้เขาต้องแลกเอาทรัพย์สินและความมั่งคั่งที่มีอยู่ทั้งหมดไปกับการติดสินบนและซื้อสินค้าหายากจากตลาดมืดมาเพื่อการนี้
หลังสงครามสิ้นสุดลง ซินด์เลอร์ย้ายไปยังเยอรมนีตะวันตก และได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากบรรดาองค์กรบรรเทาทุกข์ของชาวยิว ซึ่งหลังจากที่ได้รับชำระเงินทดแทนจากสงครามมาบางส่วน เขาได้ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปยังอาร์เจนตินาและลงหลักปักฐานทำไร่สวนที่นั้น อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2501 ซินด์เลอร์ตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย เข้าจึงแยกทางกับภรรยาและเดินทางกลับเยอรมนี ก่อนที่จะล้มเหลวในการประกอบธุรกิจหลายอย่าง จนในที่สุดเขาจำเป็นต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจาก ซินด์เลอร์ยูเดิน (Schindlerjuden; ชาวยิวของซินด์เลอร์) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยความช่วยเหลือของเขา นอกจากนี้เขายังถูกมอบเกียรติยศ ไรท์เชียสอะมองเดอะเนชันส์ (Righteous Among the Nations) จากรัฐบาลอิสราเอลในปี พ.ศ. 2506
ซินด์เลอร์เสียชีวิตในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ณ เมืองฮิลเดสไฮม์ เยอรมนีตะวันตก และถูกฝังบนภูเขาไซออนในเยรูซาเลม นับเป็นสมาชิกพรรคนาซีเพียงคนเดียวที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเช่นนี้